รู้จักร่างกายระดับดีเอ็นเอ สู่วิวัฒน์การรักษาที่แม่นยำ

“ในปี 2003 การศึกษา human genome project* ที่ช่วยกันทำโดยนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ต้องใช้เวลา 13 ปี และใช้เงินประมาณ 3-5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันหากการถอดรหัสของ จีโนมของคน คนนึง (genome sequencing หรือ การถอดรหัส DNA ทั้งหมดของคน คนนึงย) ใช้เงินเพียง 500-1,000 เหรียญสหรัฐฯ ก็สามารถตรวจได้และรู้ผลใน 2 วัน โดยในอนาคตก็มีแนวโน้มจะถูกกว่านี้อีก นี่คือความก้าวหน้าที่จะเปลี่ยนโลกและวิธีคิด

เมื่อราคาการถอดรหัสถูกลง เทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะแทรกซึมเข้าสู่ชีวิตประจำวันในที่สุด ณ จุดหนึ่งอันใกล้นี้ ทุก ๆ คนจะมีโอกาสได้ทราบข้อมูลจีโนมของตนเองและจะได้ใช้มันในด้านการแพทย์ ในการช่วยให้เราสู้กับโรคร้ายแรงที่ยังไม่มีทางรักษาได้ เพราะว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยเซฟชีวิตได้

ดร.ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย กล่าวกับพวกเราด้วยสุ้มเสียงที่มีความหวังว่าการศึกษาที่อาจารย์สนใจและพยายามศึกษาค้นคว้ามาตลอดหลายสิบปี กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นนวัตกรรมแห่งคามหวังที่จะสามารถช่วยเหลือผู้คนจากความทรมานเจ็บป่วยได้จำนวนมากในอนาคต

อาจารย์เรียกตัวเองว่าเป็น Cancer Biologist หรือผู้ที่ศึกษาด้านชีววิทยาของมะเร็งโดยเฉพาะ ด้วยงานวิจัยด้านพันธุศาสตร์ของเซลล์มะเร็งหลาย ๆ ชิ้น ของอาจารย์ทำให้อาจารย์เป็นที่รู้จักวงการวิจัยด้านมะเร็งในระดับนานาชาติ ตัวอย่างงานวิจัยชิ้นล่าสุดของอาจารย์ ชิ้นหนึ่งที่ทำให้เห็นโอกาสที่จะปลดล็อกปมการเกิดมะเร็ง และอาจจะนำไปสู่การรักษาหรือป้องกันมะเร็งได้ในอนาคต คือ การค้นพบว่า รหัส DNA ที่บันทึกโปรตีนชื่อ Cyclin D1 (ไซคลีน ดีวัน) เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้มะเร็งเติบโตขยายพันธุ์ได้ดี โดยอาจารย์อธิบายมันให้เข้าใจง่าย ๆ ด้วยการเปรียบเซลล์ในร่างกายเสมือนรถยนต์ที่ต้องมีคันเร่งและเบรก

“เซลล์ของเราโดยปกติมันมีกลไกที่ทำให้เซลล์แบ่งตัวขยายจำนวน และกลไกเอาไว้ควบคุมการแบ่งนั้น เซลล์ที่ปกติดีคือมันจะมีความสมดุลกัน เช่น เวลาเป็นแผล เซลล์จะรีบแบ่งตัวขยายจำนวนเพื่อทำให้แผลหาย พอหายแล้วมันก็จะหยุดแบ่งเซลล์ ทำให้ไม่เป็นเนื้องอกเพราะว่ามันมีการควบคุมอยู่ เหมือนกับรถยนต์ที่มีคันเร่งและเบรก ทำให้เดินหน้าและหยุดได้อย่างสมดุล รหัส DNA ในตัวเรา หลาย ๆ จุดเช่น ตัว Cyclin D1 รับหน้าที่เป็นคันเร่ง และยีนตัวอื่น ๆ เป็นเบรก วันดีคืนดีเกิดความผิดปกติในเซลล์ขึ้นจากการกลายพันธุ์ เซลล์อาจจะถูกเร่งโดยที่ไม่มีเบรกมาควบคุมเลย นานเข้าก็จะกลายเป็นเนื้องอกและมะเร็ง ดังนั้นสมดุลของสองสิ่งนี้มีส่วนอย่างมากในการเกิดหรือไม่เกิดมะเร็งในร่างกาย”

ภาวะความไม่สมดุลเหล่านี้อาจารย์บอกว่าเราสามารถรับบทเป็นนักพยากรณ์ได้อย่างแม่นยำ จากการอ่านรหัส DNA ซึ่งถือเป็นสคริปต์ของชีวิตของคนเราได้ตั้งแต่เกิด นั่นคือ การอ่านรหัส DNA ที่สามารถถูกถอดออกมาได้ดังกล่าว รหัสที่ถูกถอดออกมานั้นจะบอกข้อมูลเกี่ยวกับคน คนนั้นได้อย่างดี ตั้งแต่เชื้อชาติ สีผิว แต่ที่นักวิทยาศาสตร์และแพทย์สนใจก็คือรหัสในส่วนที่เกี่ยวกับการแพทย์ต่าง ๆ เพื่อช่วยดูแลแต่ละคนนั้นได้อย่างเหมาะสม เช่น รหัส DNA ที่เกี่ยวกับการแพ้ยา หรือ รหัสที่บอกเกี่ยวกับโอกาสเสี่ยงกับการเป็นโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็ง อัลไซเมอร์ อาการไขมัน หรือความดันสูง ซึ่งจะทำให้แพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องสามารถดูแลคน ๆ คนนั้นได้อย่างแม่นยำ หรืออาจจะป้องกันการเป็นโรคนั้น ๆ ได้เลยทีเดียว

“จริง ๆ แล้วร่างกายของเราถูกกำหนดไว้แล้วส่วนหนึ่งว่าเราจะมีโรคหรือไม่มีโรค แข็งแรง/อ่อนแอ หรือแพ้อาหารแพ้ยาใด ๆ ถ้าเรารู้ความลับหรือเราแอบไปอ่านสคริปต์อันนี้ที่อยู่ใน DNA เราก็จะสามารถบอกได้มากพอสมควร เช่น คนนี้มีความเสี่ยงที่มากกว่าคนอื่นจะเป็นมะเร็งเต้านม หรือคนนี้พออายุเข้าสู่กลางคนแล้วมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งลำไส้เยอะกว่าคนอื่นหลายเท่า หรือคนนี้จะมีไขมันสูงตั้งแต่เด็ก ๆ เลย แต่ละคนมีความเสี่ยงที่จะมีโรคไม่เท่ากัน ถ้าสามารถรู้เช่นนี้ได้แล้วสิ่งที่ตามมาคือเราควรจะป้องกัน เฝ้าระวัง หรือทำอย่างไรก็ได้ที่จะเลี่ยงการเกิดโรค ถ้ารู้ว่ามีความเสี่ยงกว่าคนอื่นเราจะต้องออกแบบการใช้ชีวิตตั้งแต่เริ่ม ที่สอดคล้องและปรึกษาแพทย์ที่เกี่ยวข้องทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ป่วยก่อน ซึ่งในหลายกรณีนั้นจะไม่ทันการ”

อีกด้านหนึ่ง คือ การถอดรหัส DNA ของแต่ละคนช่วยให้เราออกแบบการรักษาที่เหมาะกับโรคของคนคนนั้น ในกรณี เมื่อเกิดโรคขึ้นแล้วได้เช่นกัน แนวคิดใหม่นี้เราเรียกว่า Precision Medicine หรือ การแพทย์แม่นยำ คือการออกแบบการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน โดยการรักษาที่จะได้รับเกิดจากการวิเคราะห์และการอ่านรหัส DNA ของผู้ป่วยแต่ละคนไปเลย ซึ่งต้องอาศัยความแม่นยำและความรู้ระดับสูงในการอ่านรหัส DNA ของนักวิจัยเองด้วย หากเรามีการเตรียมพร้อมในจุดนี้ ก็จะอาจจะเปลี่ยนอนาคตของมวลมนุษยชาติในเรื่องการรักษามะเร็งและโรคยากอื่น ๆ ได้

“เรารู้จักโปรตีนและยีนในร่างกายเราเกือบทั้งหมดอยู่แล้ว และเรามียาดี ๆ ที่เป็นตัวเลือกที่หลากหลายและจะมีมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นหัวใจสำคัญของ precision medicine คือ เราต้องจับคู่ยากับโรคกับคน การแพทย์ในปัจจุบันอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับแนวคิดนี้ จากที่เคยรักษาตามวิธีที่ปฏิบัติกันมาตามมาตรฐาน อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนตามสภาพของรหัส DNA ของคนไข้หรือโรคในแต่ละรายไป ในกรณีของโรคมะเร็ง แนวคิดแบบนี้จะกลายมาเป็นแนวทางเลือกที่สำคัญมาก ทางหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน ”

รศ.ศิวนนท์ เน้นย้ำว่าการค้นพบครั้งนี้เป็นการต่อยอดทางชีววิทยาที่มีคุณาปการต่อมวลมนุษยชาติ และหลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มที่จะนำองค์ความรู้นี้ไปใช้เพื่อต่อยอดในการพัฒนาวงการธารณสุขบ้างแล้ว ประเทศไทยก็พอจะเห็นบ้างในสถาบันการแพทย์ชั้นนำ แต่สิ่งหนึ่งที่อาจารย์มองเห็นว่าจะสามารถผลักดันความรู้ตรงนี้กระจายออกไปได้อย่างกว้างขวาง คือ การสร้างการรับรู้ให้กับทุก ๆ คน และความร่วมมือของทุกหน่วยงานและองค์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งบุคลากรทางสาธารณสุข นักวิจัย และบริษัทยาเอง เพื่อที่สุดท้ายแล้วนวัตกรรมดังกล่าวจะสามารถเข้าถึงทุกคนอย่างเท่าเทียมในอนาคต*Human Genome Project โครงการจีโนมมนุษย์ เป็นโครงการระดับนานาชาติที่ได้รับการสนับสนุน โดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NIH) เริ่มเมื่อปี ค.ศ. 1990 วัตถุประสงค์คือการหาลำดับเบสของจีโนมมนุษย์ทั้งสามพันล้านเบสให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ภายในปี 2003

ประวัติ : รองศาสตราจารย์ ดร เภสัชกร ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย

อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นหนึ่งในผู้นำของประเทศด้านการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง และเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ความเป็นเลิศด้านเภสัชวิทยาเชิงระบบของคณะแพทย์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่เน้นในการใช้ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่รวมถึงการถอดรหัส DNA การสร้างโมเดลโรคมะเร็งเพื่อเอามาใช้ทดสอบยาแทนคนไข้ และชีววิทยาเชิงระบบ มาบูรณาการ เพื่อต่อสู้กับมะเร็งและโรคร้ายแรงอื่น ๆ งานวิจัยมุ่งที่จะไขความลับเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของรหัส DNA ต่อการตัดสินใจในการเลือกใช้ยามะเร็ง

Crack The Mindset Season 1

Crack The Mindset Season 2