ไขความลับถอดรหัสจีโนม ใบเบิกทางสู่นวัตกรรมและการวางแผนรักษามะเร็ง

Crack the Mindset ครั้งที่แล้วเราได้ทำความรู้จักร่างกายระดับดีเอ็นเอ ความสำคัญและความจำเป็นสำหรับการวิวัฒนาการทางการแพทย์ โดยเฉพาะการรักษาโรคที่ซับซ้อนอย่างมะเร็ง ในวันนี้เราจะมาต่อยอดองค์ความรู้กันต่อว่าการค้นพบที่สำคัญของมวลมนุษยชาตินี้จะนำไปสู่การพัฒนาอีกขั้นในการรักษาโรค ในส่วนของการทำยารักษาได้อย่างไร และผู้ป่วยจะมีทางเลือกและสามารถมีคุณภาพที่ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง กับ รศ. ดร. ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย

“มะเร็งกำลังเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของโลก เหตุผลสำคัญคือยาที่ใช้รักษาในปัจจุบันยังไม่ได้ผลดีนัก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นลักษณะ one side fit all หมายความว่า ถ้าตรวจเจอว่าเป็นมะเร็งชนิดหนึ่งทุกคนที่เป็นมะเร็งนี้ก็ใช้ยาตัวเดียวกัน ซึ่งความจริงแล้วมันใช้ได้ผลดีกับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ว่าอีกกลุ่มหนึ่งก็อาจจะไม่ได้ผล อันนี้ไม่ใช่ว่าแพทย์หรือผู้คิดค้นยาไม่เก่งนะ แต่ข้อมูลจากการวิจัยด้านมะเร็งมันเริ่มจะมาชัดขึ้นภายหลังนี้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เราทราบเรื่องของโมเลกุล และพันธุศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง จาก Human Genome Project และ Cancer Genome Atlas ถ้าเราเอาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของจีโนมหรือเรื่องของพันธุกรรมในมะเร็ง ของแต่ละคนมาช่วยมาเป็นเกณฑ์ในการเลือกยาที่ถูกกับคนป่วย ปัญหาที่เราเห็นอยู่น่าจะถูกพัฒนาได้ดีขึ้น โดยเฉพาะจะมีแนวทางใหม่ๆในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง”

ดร. ศิวนนท์อธิบายถึง concept ให้เราเห็นภาพคร่าว ๆ ว่าทำไม ในภาพรวมมะเร็งถึงยังคงเป็นโรคที่อันตรายและยังไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผลดี เพราะความซับซ้อนของการเกิดที่อยู่ระดับจีโนมในมะเร็งเอง

ประโยชน์ของการใช้ข้อมูลในระดับโมเลกุลและจีโนมของมะเร็งมาช่วยในการดูแลผู้ป่วยนั้น เริ่มชัดเจนขึ้นมากในยุคนี้

จากข้อมูลที่มีมากขึ้น อาจารย์ศิวนนท์เสนอว่าเราอาจจะแบ่งผู้ป่วยมะเร็งออกเป็น 3 รูปแบบ

1. กลุ่มมะเร็งที่อาการไม่รุนแรงหรือดำเนินโรคช้า เช่นมะเร็งที่โตช้ามากและไม่ค่อยกระจายตัว เช่นมะเร็งต่อมลูกหมากบางชนิดหรือมะเร็งไทรอยด์บางชนิด

2. กลุ่มมะเร็งที่รุนแรง จะเป็นพวกที่เติบโตและ กระจายตัวเร็วแม้ในขั้นที่ 1 หรือเป็นชนิดที่ตรวจพบยากและจะพบเมื่ออยู่ระยะท้ายๆแล้วเท่านั้น

3. กลุ่มมะเร็งรุนแรงปานกลาง หากเราตรวจเจอได้เร็วจะสามารถให้การรักษาที่ใได้ผลดีได้

จากข้อสังเกตนี้ การรักษาอย่ารวดเร็วอย่างเต็มที่น่าจะได้ประโยชน์กับคนไข้มะเร็งกลุ่มที่ สามมากที่สุด ส่วนการรักษาที่รุนแรงเต็มที่อาจไม่ได้ประโยชน์สูงสุดกับคนไข้กลุ่มที่ หนึ่งและสองมากนัก

ตัวอย่างเช่น จากสถิติผู้ป่วยที่ตรวจเจอมะเร็งเต้านมนั้น แค่ 1 ในสี่เท่านั้น ที่จะมีอาการดำเนินโรคที่รุนแรง ไม่ตอบสนองต่อการรักษา และจะเสียชีวิตด้วยโรคนี้ ดังนั้นการแยกผู้ป่วยออกเป็นกลุ่มๆและให้การรักษาที่เหมาะสมกับการดำเนินโรค จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วย ปัจจุบันข้อมูลด้านพันธุกรรมของมะเร็งและข้อมูลระดับโมเลกุลอื่น ๆ สามารถช่วยเราแยกผู้ป่วยได้ค่อนข้างแม่นยำล่วงหน้า ว่า ผู้ป่วยคนใดมีความเสี่ยงที่จะมีโรคที่ aggressive ซึ่งจำเป็นต้องรักษาอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด หรือ ผู้ป่วยใดจะมีการดำเนินโรคที่ดี และไม่จำเป็นต้องให้ยาเคมีที่รุนแรงต่อผู้ป่วย

สามารถจำแนกผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด

“จากตัวอย่างดังกล่าว ชี้ว่าการให้ความสำคัญกับ และการนำข้อมูลจากการวิจัย ด้านจีโนมและพันธุศาสตร์มะเร็งมาใช้ในการพัฒนาการดูและผู้ป่วยมะเร็ง น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการพัฒนาศักยภาพของการรักษามะเร็งให้ดีขึ้น การจำแนกมะเร็งจากข้อมูลที่มาจากเทคโนโลยีอะไรใหม่ ๆ เช่น cancer sequencing หรือการถอดรหัสพันธุกรรมของมะเร็งของแต่ละคน ในอนาคตอันใกล้จะเป็นที่มีประโยชน์มหาศาล”

ข้อมูลการกลายพันธุ์ที่ได้จากการถอกรหัสจีโนมมะเร็งยังสามารถใช้ในด้านอื่น ๆ ที่สำคัญได้อีกด้วย

เช่นทำนายผลของยาในการรักษาว่าจะได้ผลหรือไม่ เช่น มะเร็งปอดในคนไข้ที่เป็นคนสูบบุหรี่เทียบกับมะเร็งปอดจากคนไม่สูบบุหรี่ พบว่าคนที่สูบบุหรี่มีการกลายพันธุ์มากกว่า และมีโอกาสในการที่มะเร็งจะดื้อต่อยามีสูงกว่ามาก

อีกประโยชน์ของการถอดรหัสจีโนมของมะเร็งคือ ยามะเร็งใหม่ๆจะเป็นในลักษณะยาที่มุ่งเป้าไปที่การกลายพันธุ์หรือมุ่งโจมตีความผิดปกติ จำเพาะเป็นจุด ๆ ที่มีความผิดปกติบนจีโนมมะเร็ง ดังนั้นการถอดรหัสจีโนมมะเร็งจึง เป็นความจำเป็นต่อการเลือกใช้ยาเหล่านี้ “จากหลักการนี้ จะเห็นได้ว่าโอกาสที่คนไข้แต่ละรายจะมีการกลายพันธุ์เดียวกันบนจีโนมของมะเร็งนั้นมีน้อยมากแม้จะเป็นมะเร็งที่อวัยวะเดียวกัน ดังนั้น คนไข้แต่ควรจะได้รับการรักษาที่ออกแบบมาแตกต่างกันไป หลักการนี้ เรียกว่า cancer precision medicine หรือเวชศาสตร์ตรงเหตุในมะเร็ง”

“ ขณะนี้มีมิติใหม่ในวงการพัฒนายา มีการนำหลักการใช้ข้อมูลการกลายพันธุ์จากการถอดรหัสจีโนมมะเร็งของคนไข้แต่ละราย มาร่วมกับการออกแบบการวิจัยยามะเร็งในระดับคลินิก (clinical trial) โดยก่อนทดสอบให้ถอดรหัสจีโนมของคนไข้ที่เป็นมะเร็ง แล้วแบ่งเป็นกลุ่มตามข้อมูลการกลายพันธุ์ในจีโนม นอกเหนือไปจากเดิมที่แบ่งกลุ่มผู้ป่วยตามชนิดของมะเร็ง (ตามอวัยวะ) เรียกว่า basket trial ซึ่งจัดกลุ่มคนไข้ที่มีการกลายพันธุเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นมะเร็งที่อวัยวะใด มาอยู่กลุ่ม (ตะกร้า) เดียวกัน และรับยามุ่งเป้าหมายเดียวกัน และ umbrella trial ซึ่งแยกคนไข้ที่เป็นมะเร้งเดียวกันออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ตามข้อมูลการกลายพันธุ์แต่ละกลุ่มก็ได้ยาต่าง ๆ กัน ตามข้อมูลจีโนมของแต่ละกลุ่ม ซึ่งหลักการทั้งสองแบบเป็นวิธีการทดสอบยามะเร็งใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งให้ผลที่เฉพาะเจาะจงและคนไข้มีโอกาสได้ประโยชน์จากยามะเร็งได้มากกว่าแนวทางการทดสอบยาแบบเก่ามาก และนี่จะเป็น Crack the Mindset ในอนาคต

นี่คือความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและงานวิจัยชิ้นสำคัญของมวลมนุษยชาติ เพื่อลดอัตราการป่วยและการตายจากโรคมะเร็ง ด้วยความสามารถที่จะประเมินคนไข้ได้อย่างละเอียดและแม่นยำมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การรักษาเป็นไปแบบเฉพาะเจาะจง และมีโอกาสที่จะหายหรือมีผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม ที่สำคัญปัจจุบันการค้นหาจีโนมในร่างกายมนุษย์มีราคาถูกลง ซึ่งหากได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะทำให้ผู้คนเข้าถึงโอกาสในการรักษาได้มากขึ้นอีกด้วย เป็นความหวังอันสว่างไสวของโลกที่ต้องต่อสู้กับโรคมะเร็งมาอย่างยาวนาน

ประวัติ : รองศาสตราจารย์ ดร เภสัชกร ศิวนนท์ จิรวัฒโนทัย

อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นหนึ่งในผู้นำของประเทศด้านการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง และเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ความเป็นเลิศด้านเภสัชวิทยาเชิงระบบของคณะแพทย์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่เน้นในการใช้ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่รวมถึงการถอดรหัส DNA การสร้างโมเดลโรคมะเร็งเพื่อเอามาใช้ทดสอบยาแทนคนไข้ และชีววิทยาเชิงระบบ มาบูรณาการ เพื่อต่อสู้กับมะเร็งและโรคร้ายแรงอื่น ๆ งานวิจัยมุ่งที่จะไขความลับเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของรหัส DNA ต่อการตัดสินใจในการเลือกใช้ยามะเร็ง

Crack The Mindset Season 1

Crack The Mindset Season 2