โควิด-19 ยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ เร่งให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมยาที่รวดเร็วขึ้น กระบวนการที่เคยใช้เวลาเกือบ 10 ปี ลดเหลือเพียง 18 เดือน แต่กระบวนการที่ว่าเร็วพอหรือไม่ อุตสาหกรรมยามีแนวคิดและวิธีการต่อกรกับโควิด-19 ในระยะยาวอย่างไร

เคน นครินทร์ คุยกับ นายแพทย์ทวิราป ตันติวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) ในรายการ The Secret Sauce

สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA)

สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์มีบริษัทในเครือกว่า 30 บริษัท ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทที่คิดค้นนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาในเชิงระบบสุขภาพได้ คิดวิธีใหม่ๆ ในการรักษาที่ดีขึ้น ง่ายขึ้น มีประโยชน์กับผู้ป่วยอย่างสูงสุด โดยสมาชิกต้องทำการแข่งขันกันเองเพื่อพัฒนาต่อยอดความคิดเหล่านี้

เป้าหมายของสมาคมคือการยกระดับอุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ร่วมกัน โดยมีหลักการ 4 ข้อ ได้แก่ 1. แบ่งปันและแลกเปลี่ยนความคิด 2. ถกหาวิธีการแก้ปัญหา 3. ทำความเข้าใจร่วมกัน และ 4. ทำให้เกิดการมีสังคม มุ่งเน้นไปที่การสร้างมนุษยธรรมและการทำประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวม การทำเช่นนี้จะสร้างจุดยืนให้อุตสาหกรรม และนำองค์ความรู้ที่มีไปสื่อสารกับสาธารณชนและสนับสนุนรัฐบาลได้

ในเชิงยุทธศาสตร์ เปลี่ยนเป้าหมายเดิมจากการลดการนำเข้านวัตกรรมเพื่อลดค่าใช้จ่าย เป็นการพัฒนาและผลักดันความคิดใหม่ๆ ให้เกิดเป็นความสำเร็จเชิงพาณิชย์ในระดับโลก ผ่านการร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS)

ปัจจุบันความร่วมมือเกิดขึ้นอย่างเปิดกว้างในทั่วทุกมุมโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) สหประชาชาติ (UN) รัฐบาลประเทศต่างๆ และสถาบันการศึกษาล้วนยื่นมือเข้ามาเพื่อช่วยเหลือ บริษัทยาเปิดเผยสารพันธุกรรมและสูตรทางวิทยาศาสตร์ของสารออกฤทธิ์บางชนิดเพื่อเสาะหาความร่วมมือเพื่อการพัฒนาต่อไปในอนาคต สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงก้าวที่สำคัญที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยา

New Normal แห่งอุตสาหกรรมยา

ในอุตสาหกรรมยา การใช้ระบบสื่อสารโทรคมนาคมจะกลายเป็นประเพณีปฏิบัติใหม่ซึ่งทุกคนมีความพร้อมที่จะเปิดรับ แต่สิ่งที่ต้องตามมาคือกฎหมายและโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ ว่าจะสามารถรองรับแนวคิดนี้ได้รวดเร็วพอหรือไม่

ตัวอย่างเช่น การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ซึ่งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-time ผ่านระบบ Video Conference ขั้นตอนการนำผลโลหิตหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยมาวินิจฉัยต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพมารองรับ โดยอาจมาในรูปแบบของอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable Device) และกฎหมายการรับรองผู้ให้การรักษาทั้งในรูปแบบของใบอนุญาต และสถานที่รับการรักษาต้องมีการเปลี่ยนแปลง

ในเชิงบุคลากรทางการแพทย์ การแลกเปลี่ยนความรู้ที่กว้างขึ้นอย่างมหาศาลจะก่อให้เกิดนักนวัตกรใหม่ๆ และให้โอกาสเด็กรุ่นใหม่ในการเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น

ในเชิงสถานพยาบาล โรงพยาบาลจะมีความแออัดที่ลดลง และผู้คนจะกระจายตัวกันไปรักษาตามชุมชนต่างๆ มากขึ้น

ในเชิงระบบสาธารณสุข ต้องเปลี่ยนจากการรักษาและบำบัด หันมามุ่งเน้นการป้องกันในขณะที่เรายังมีสุขภาพที่ดีให้มากขึ้น

เราควรปรับตัวอย่างไร

ประเมินว่างานต่างๆ ที่เราสามารถใช้เทคโนโลยีมาทดแทนได้มีอะไรบ้าง
มีจินตนาการในการมองหาช่องว่างของตลาดเพื่อสร้างนวัตกรรมมาตอบโจทย์
ปฏิรูประบบการศึกษาให้มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรเพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพปัญญาประดิษฐ์