----------------------
----------------------
ความหวังของมนุษยชาติ ไขกระบวนการผลิตวัคซีนที่ไม่ได้มาง่าย ๆ
นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ทำให้คนทั้งโลกหันมาตื่นตัว ดูแลสุขภาพตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น หนึ่งคำถามในใจหลายคนตอนนี้ คือ “ โลกเราจะมีวัคซีนตัวไหนที่สามารถกอบกู้สถานการณ์ ณ ขณะนี้ได้หรือไม่ ”
คำตอบก็คือ จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ได้โดยตรง เป็นสาเหตุที่รัฐบาลทุกประเทศต่างพากันเร่งมือ ค้นคว้า และวิจัยวัคซีนที่สามารถจัดการวิกฤต COVID-19 ได้ โดยเฉพาะประเทศจีน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และออสเตรเลีย ที่กำลังเดินหน้าพัฒนาวัคซีนให้เร็วที่สุด แต่อย่างที่รู้ว่า กระบวนการผลิตวัคซีนเพื่อนำไปใช้กับมนุษย์นั้น ต้องอาศัยเวลาไม่น้อยเลยทีเดียว
แพทย์หญิงอรณี ตั้งเผ่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนายาทางคลินิก เป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ได้ให้คำตอบว่า กระบวนการผลิตวัคซีนนั้น มีขั้นตอนและกรรมวิธีที่ซับซ้อน นอกจากจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-5 ปี และมีค่าใช้จ่ายหลายพันล้านบาท ยังต้องคิดค้นและทดลองโดยนักวิจัยที่มีความสามารถ รวมไปถึงการสนับสนุนด้านกฎระเบียบจากภาครัฐ
หลายคนอาจไม่รู้ว่า วัคซีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนเพื่อป้องกัน (Prophylactic vaccine) ที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรค เช่น วัคซีนโปลิโอ วัคซีนบาดทะยัก วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนมะเร็งปากมดลูก วัคซีนโรต้า เป็นต้น และ วัคซีนเพื่อการรักษา (Therapeutic vaccine) ที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น เช่น วัคซีนรักษาโรคมะเร็ง
กระบวนการพัฒนาวัคซีน เพื่อใช้ในการป้องกันหรือรักษา ต้องผ่าน 2 ขั้นตอนหลักดังนี้
1. การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย
ก่อนจะลงมือพัฒนา ต้องมีเป้าหมายชัดเจนก่อนว่า วัคซีนที่กำลังจะถูกพัฒนานี้ จะนำมาป้องกันโรคใด และขณะนี้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่เกิดขึ้นนั้นมากเพียงไร สาเหตุของโรคหรือตัวเชื้อโรคมีลักษณะแตกต่างหรือใกล้เคียงจากโรคและเชื้อโรคที่เคยมีการศึกษาก่อนหน้านี้มากน้อยเพียงใดในกรณีของ COVID-19 นั้น เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งแม้จะพอมีข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำเกิดโรคระบาดในอดีตอยู่บ้าง แต่ในการพัฒนาวัคซีนยังต้องอาศัยการเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและปรับสมมติฐานไปตามข้อมูลใหม่ที่ได้รับ
2. การศึกษาวิจัยเชื้อก่อโรค
คือ กระบวนการแยกเชื้อ ซึ่งเปรียบเสมือนกุญแจที่ช่วยไขปริศนาให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่า ส่วนใดของไวรัสที่มีอานุภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ป่วย เมื่อค้นพบตัวการดังกล่าวได้ ก็จะทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถนำส่วนของไวรัสมาทำให้ ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคในคน และยังสร้างภูมิคุ้มกันที่ทำให้คนที่ได้รับไวรัสไม่ติดโรค ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นสมมติฐานตั้งต้นในการผลิตวัคซีนเพื่อการศึกษาต่อในห้องปฏิบัติการและในทางคลินิกต่อไป
หลังจากที่เชื้อไวรัส COVID-19 ระบาดมาแล้วระยะหนึ่ง ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา เหล่านักวิจัยในประเทศจีนได้ทดลองการแยกเชื้อและศึกษารายละเอียดของไวรัสโคโรนาชนิดใหม่นี้ เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์นำไปวิจัยต่อ อย่างไรก็ตาม เพราะเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับในระยะต้นจึงมีอยู่จำกัด รวมไปถึงอัตราการแพร่กระจายตัวของเชื้อไวรัสที่มีการพุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว และจำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงกว่าไข้หวัดใหญ่ทั่วไป ทำให้หลายประเทศมีความพยายามที่จะเอาชนะไวรัสชนิดนี้ เกิดการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาวัคซีนอย่างเร่งด่วน ด้วยความคาดหวังว่าวัคซีนป้องกันโรคนี้จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันและปกป้องคนจำนวนมากให้รอดจากการติดเชื้อนี้ในการระบาดที่อาจจะหนักขึ้นในอนาคต
การพัฒนาวัคซีนในประเทศไทย
แพทย์หญิงอรณี กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนในประเทศไทยส่วนใหญ่ เป็นการต่อยอดวัคซีนต้นแบบจากต่างประเทศ แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีหน่วยงานด้านสุขภาพและการศึกษาวิจัยวัคซีน ซึ่งก็คือ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาวัคซีนนวัตกรรมของไทย
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาวัคซีนนวัตกรรมให้สำเร็จ ยังต้องอาศัยเทคโนโลยีและบุคลากรที่สามารถคิดค้นและพัฒนาวัคซีนได้อย่างครบวงจร ซึ่งหากประเทศไทยสามารถพัฒนาองค์ความรู้และสร้างระบบที่เอื้ออำนวย ส่งเสริมให้นักวิจัยไทยพัฒนาวัคซีนนวัตกรรมของเราขึ้นมาเองได้ จะทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์อย่างมาก ไม่เพียงแต่ผู้ป่วยและผู้บริโภคจะสามารถเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพได้ดียิ่งขึ้น นักวิจัยรุ่นใหม่ยังมีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาความรู้ได้มากขึ้น รวมทั้งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระดับประเทศ
การพัฒนาวัคซีนแบบต่อยอดหรือนำ concept วัคซีนที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาเพื่อใช้ในประเทศไทยเป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่จะช่วยให้ประเทศสามารถสร้างศักยภาพในการค้นคิดและผลิตวัคซีนที่เป็นนวัตกรรมในตลาดสากล และตอบสนองความต้องการเร่งด่วนของระบบสาธารณสุขของประเทศและของโลก
“การสนับสนุนอย่างจริงจังของภาครัฐจะส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมในส่วนต่าง ๆ และกระตุ้นให้เกิดระบบที่ส่งเสริมการพัฒนาวัคซีนนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชาติในระยะยาว ไม่แน่ว่า หากเกิดโรคระบาดอย่างโรคโควิด-19 ขึ้นมาอีกครั้ง ประเทศไทยอาจจะมีชื่อในฐานะหนึ่งในผู้ทำการวิจัยและพัฒนาวัคซีนเพื่อรักษาโรคระบาดนั้นก็เป็นไปได้” แพทย์หญิงอรณี ทิ้งท้าย
#Crackthemindset #วัคซีนนวัตกรรม #นวัตกรรมไม่ใช่การเลียนแบบ #นวัตกรรมคือการเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา
พญ.อรณี ตั้งเผ่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาการพัฒนายาทางคลินิก จบการศึกษาปริญญาตรี คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรศาสตร์ ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อปริญญาโท มหาวิทยาลัย McMaster ประเทศแคนาดา และได้รับ American Board of Clinical Pharmacology จากการศึกษาที่มหาวิทยาลัย Stanford ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยได้มีความสนใจเป็นพิเศษในการพัฒนายา อดีตอาจารย์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์สาขาเภสัชวิทยาคลินิก มหาวิทยาลัย Stanford
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอาจารย์อรณี ได้ทำงานด้านการพัฒนายาและได้รับความสำเร็จในหน้าที่การงานจนได้ดำรงตำแหน่งเป็น Chief Medical Officer ในบริษัท start up ที่อเมริกา ปัจจุบันอาจารย์เป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่งในไทยและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งได้รับเชิญเป็นวิทยากรในหัวข้อเรื่องการพัฒนายาทางคลินิกอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา