----------------------
----------------------
สร้างสรรค์ ยอมรับ ปรับเปลี่ยน สามคำที่จะทำให้เกิดนวัตกรรม
หลายครั้งที่ได้ยินคำกล่าวว่า ‘ปรับทัศนคติ ชีวิตก็จะเปลี่ยน’ มีหลากหลายงานวิจัยที่สนับสนุนคำกล่าวนี้ ซึ่งในแง่ของการพัฒนา ทัศนคติ (Mindset) + วัฒนธรรม (Culture) เป็นเหตุผลสำคัญในการเกิดขึ้นของนวัตกรรมใหม่ เมื่อคนที่มีทัศนคติเดียวกัน มารวมกลุ่มอยู่ด้วยกัน จะทำให้เกิดแรงผลักดันต่อวัฒนธรรม และเกิดการขับเคลื่อนของนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ แต่จะทำได้อย่างไรกันนะ ?
แพทย์หญิง อรณี ตั้งเผ่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านการพัฒนายาทางคลินิก ได้มีโอกาสการทำงานในระบบ R&D ในสหรัฐอเมริกา และมีประสบการณ์โดยตรงในด้านการบริหารจัดการโครงการนวัตกรรม ทั้งในด้านของบุคลากร และแหล่งทุน ได้ให้แง่คิดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรม ในด้านสุขภาพของประเทศไทยไว้ดังนี้
ความคิดสร้างสรรค์ และความกล้าที่จะเสี่ยง
หลายท่านอาจคิดว่า การผลิตนวัตกรรมเป็นเรื่องยาก เพราะต้องมีองค์ความรู้ เทคโนโลยี และทุนทรัพย์ที่เพียงพอต่อการลงทุน แต่ในมุมมองของ พญ. อรณี นั้น นวัตกรรมจะเริ่มต้นได้ ต้องมีทัศนคติที่ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมเสียก่อน นักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นว่า มากกว่า 90% ของเด็ก มีความคิดสร้างสรรค์ แต่เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ กลับเหลือผู้ที่ยังมีความคิดสร้างสรรค์ไม่ถึง 10% เป็นประเด็นให้ชวนตั้งคำถามว่า ในช่วงเวลาของการเติบโตมีปัจจัยใดที่ยับยั้งความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ระบบการศึกษาส่งผลอย่างไร และมีวิธีใดบ้างที่จะปลดล็อคทัศนคติในเชิงของความคิดสร้างสรรค์ในสังคมเรา
นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า ในยุคโลกาภิวัตน์ ประเทศที่มีนวัตกรรมมากกว่าจะมีความเจริญในด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศมากกว่าประเทศอื่น ๆ ดังนั้นถือได้ว่า นวัตกรรมมักจะมากับคำว่า กล้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อมีผู้ริเริ่มความคิดใหม่ ๆ มานำเสนอ ทดลอง และพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาเดิมที่มีอยู่ ความท้าทายคือการเปลี่ยนทัศนคติให้เปิดใจยอมรับในการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ยอมรับในความเสี่ยงที่จะผิดพลาด เรียนรู้จากโอกาสที่ได้รับ และนำความผิดพลาดเหล่านั้นไปพัฒนาตนเอง ทีมงาน องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และสร้างผลลัพธ์ให้ดียิ่งขึ้นไปพร้อม ๆ กัน นอกจากนั้น ระบบค่าตอบแทน (incentive) ก็จำเป็นต่อการเกิดนวัตกรรมเช่นกัน กำลังใจเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ผู้พัฒนามีแรงผลักดัน และแรงจูงในการท้าทายความแปลกใหม่ มิใช่เป็นเพียงการพัฒนาเพื่อแค่ต้องการผลลัพธ์ ไม่กล้าที่จะเสี่ยงในการทดลองสิ่งใหม่ เพราะกลัวความผิดพลาด และโครงการเหล่านั้นมากจะอยู่ในประเภท Low risk – Low reward หากประเทศ หรือบริษัทต้องการที่จะกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ผู้บริหารควรพิจารณาทั้ง risk และ reward คู่กัน หากต้องการให้มีการพัฒนาในเชิงนวัตกรรมมากขึ้น
ความสำคัญของระบบการเรียนรู้ ที่เป็นมากกว่าการท่องจำ
ระบบของการเรียนรู้นั้น สามารรถสรุปเป็นแนวทางกว้าง ๆ ได้อย่างน้อย 3 ระดับ คือ 1. ข้อมูล (information) ซึ่งผู้ศึกษาสามารถหาข้อมูลเองได้อย่างกว้างขวาง ทั้งในหนังสือหรือออนไลน์ 2. ความรู้ (Knowledge) เมื่อรับข้อมูลแล้ว นอกจากจดจำแล้ว ควรทำความเข้าใจในสาระสำคัญ เพื่อไปสู่ระดับที่ 3 คือ ปัญญา (Wisdom) การนำองค์ความรู้ที่มีไปต่อยอดให้เกิดการพัฒนาต่อไป
ในเชิงของนวัตกรรมนั้น การเรียนรู้ในระดับที่ 3 นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก นอกจากจะต้องเข้าใจองค์ความรู้ นำไปต่อยอดในการพัฒนา แล้วนำกลับมาปรับปรุง กระบวนการเหล่านี้เป็นรากฐานของการเกิด Learning and confirming cycle ที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) เป็นพื้นฐาน หากย้อนกลับไปดูระบบการศึกษาโดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา เมื่อผู้สอนป้อนข้อมูล อธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจและนำไปใช้ เมื่อจบการศึกษา ผู้เรียนจะสามารถเป็นได้เพียงผู้ปฏิบัติที่สามารถสืบค้น ทำความเข้าใจข้อมูล และนำไปใช้ปฏิบัติในสายวิชาชีพได้เท่านั้น คำถามคือหากต้องการให้ผู้ที่จบการศึกษานั้น มีศักยภาพมากกว่าเป็นเพียงผู้ปฏิบัติการ แต่สามารถสร้างภูมิปัญญาใหม่ ๆ ที่นำไปสู่การพัฒนาและวิจัยในเชิงนวัตกรรมนั้น ระบบการศึกษาควรเป็นเช่นไร
พอใจกับสิ่งที่คุ้นเคย
สนับสนุนนวัตกรรม
หน้าที่ของผู้สอน
ให้ข้อมูล อธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจ และนำไปปฏิบัติได้ วัดผลโดยที่ผู้เรียนสามารถรู้และเข้าใจในสิ่งที่ผู้สอนรู้และเข้าใจ
ผู้ชี้ทาง สอนให้คิด เปิดกว้าง ตั้งคำถามที่ผู้สอนไม่จำเป็นต้องรู้คำตอบ การวัดผล ผู้เรียนสามารถคิดไปได้ไกลกว่าตำรา ข้อมูล และผู้สอน
หน้าที่ของผู้เรียน
ท่อง อ่าน เขียน ตามที่ผู้สอนกำหนด พยายามทำความเข้าใจกับเนื้อหาและหัวข้อที่เรียน ผ่านการทดสอบด้วยคะแนนสูง
การทำงาน
ปฏิบัติตามตำแหน่งและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย สามารถทำงานประจำได้อย่างราบรื่น ตามกฎระเบียบ
นำความรู้และประสบการณ์มาผสมผสาน สังเคราะห์สมมติฐานในการแก้ไขปัญหา ลงมือทดสอบ เรียนรู้จากผลทั้งบวกและลบ ปรับปรุงสมมติฐานไปตามผลที่ได้เรียนรู้มา ต้องการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน
เมื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง
มีความพอใจกับภาวะที่เป็นอยู่หรือเคยเป็น กังวล ในความผิดพลาด และความไม่แน่นอน ตำหนิความเปลี่ยนแปลงไว้ล่วงหน้า พิจารณาโดยยึดตนเองเป็นหลัก
ตื่นเต้น ต้องการเรียนรู้ ชอบการสนทนา ท้าทายความคิด หาคำตอบ พิจารณาสิ่งใหม่ แม้ไม่สำเร็จ ก็ยอมรับว่าเป็นประสบการณ์ที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาในครั้งหน้า
สภาวะความเป็นผู้นำ
โดยวุฒิการศึกษา ระยะเวลาและประสบการณ์การทำงาน ความเพียรพยายาม ความอดทน อำนาจที่มากับตำแหน่งหน้าที่
วิสัยทัศน์ การสื่อสาร วิธีการจูงใจให้ผู้อื่นเข้าใจและเห็นคล้อยตาม ผลงานที่จับต้องได้ เช่น ความคืบหน้าของโครงการ
ความภูมิใจในความสำเร็จ
การงานหน้าที่ก้าวหน้า มีรายได้ดีและมั่นคง มีความรับผิดชอบและได้รับการยกย่องจากสังคม
ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มีผลงานที่เกิดจากสิ่งที่ลงแรงไป นวัตกรรมในระดับสากลนำไปสู่คุณค่าทางธุรกิจและผลตอบแทนทางด้านรายได้ด้วย
เมื่อเข้าสู่สนามแข่งขัน
ทำงานหนักและทำให้ดีที่สุด พยายามดูแลผลประโยชน์ของหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ได้ในสัดส่วนที่ควรได้
ทำงานด้วยความคิด เปิดตลาดใหม่ทำให้ผลประโยชน์โดยรวมกว้างขึ้น ทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบและคู่แข่งสามารถขยายตัวไปด้วยกัน หาจุดร่วม สร้างจุดเสริม ทำงานเป็นทีมได้ในหลายระดับ
มีหลากหลายปัจจัย ที่นอกเหนือกจากตารางเหล่านี้ที่จะสามารถพัฒนาระบบการศึกษาได้ เมื่อพิจารณาดูแล้วจึงตั้งคำถามกับสังคมรวมทั้งตนเองว่า มีความพร้อมในการสนับสนุนนวัตกรรมมากเพียงใด ที่จะช่วยปลดล็อคทางความคิด ทัศนคติ และยอมรับในความเปลี่ยนแปลง ควรทำความเข้าใจก่อนว่าความยึดติดนั้น กำลังทำให้สังคม หรือประเทศสามารถก้าวไปข้างหน้าได้หรือไม่ เพื่อที่คนไทยในยุคต่อ ๆ ไปจะได้ก้าวไปสู่ Innovation Economy อย่างเต็มภาคภูมิ
#Crackthemindset
พญ.อรณี ตั้งเผ่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาการพัฒนายาทางคลินิก จบการศึกษาปริญญาตรี คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรศาสตร์ ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อปริญญาโท มหาวิทยาลัย McMaster ประเทศแคนาดา และได้รับ American Board of Clinical Pharmacology จากการศึกษาที่มหาวิทยาลัย Stanford ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยได้มีความสนใจเป็นพิเศษในการพัฒนายา อดีตอาจารย์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์สาขาเภสัชวิทยาคลินิก มหาวิทยาลัย Stanford
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอาจารย์อรณี ได้ทำงานด้านการพัฒนายาและได้รับความสำเร็จในหน้าที่การงานจนได้ดำรงตำแหน่งเป็น Chief Medical Officer ในบริษัท start up ที่อเมริกา ปัจจุบันอาจารย์เป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่งในไทยและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งได้รับเชิญเป็นวิทยากรในหัวข้อเรื่องการพัฒนายาทางคลินิกอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา