----------------------
----------------------
นวัตกรรมแห่งความหวังคือคนรุ่นใหม่ ที่พร้อมจะ Crack The Mindset!
สำหรับหลายท่านที่ติดตามคอลัมน์ Crack The Mindset มาตั้งแต่ (Season 1) คงคุ้นเคยกับแพทย์หญิง อรณี ตั้งเผ่า ซึ่งท่านถือเป็น (Key Opinion Advocator-KOA) คนแรกที่ให้สัมภาษณ์กับเรา วันนี้ได้รับเกียรติจากอาจารย์อีกครั้งที่ให้โอกาสได้พูดคุยเกี่ยวกับวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ Crack The Mindset ของประเทศไทย เพื่อนำพาประเทศไปสู่สังคมแห่งนวัตกรรม เราจะต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลง วิธีคิดหรือทัศนคติของเราอย่างไร เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักของการเป็นประเทศกำลังพัฒนา และก้าวไปสู่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างภาคภูมิใจ
“ต้องเริ่มที่ระบบการศึกษา หากเรายังคงเน้นไปที่ความจำ ความรู้และความสามารถที่ได้ก็จะไปอยู่กับคนที่มีความจำดี ท่องเก่ง ดังนั้น เราก็จะได้บุคลากรรุ่นต่อ ๆ ไปที่มีความสามารถในการท่องจำเหมือนเดิม แต่สิ่งที่สำคัญในยุคนี้คือบุคคลากรที่มีความสามารถทางด้านความคิด การประดิษฐ์คิดค้น รวมไปถึงการสังเคราะห์ข้อมูลเป็น และนำพื้นฐานเหล่านี้ไปใช้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นกับตัวเราหรือสังคม ทั้งนี้ จากประเด็นนี้แล้วนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับ ตั้งแต่ระบบการศึกษาจนไปถึงวิถีในการดำเนินชีวิตประจำวัน ต้องมีความเข้าใจ ความเห็นต่าง คิดต่าง หากทุกคนมีความคิดเห็นคล้องต้องตรงกันทั้งหมดนั่นหมายความว่าความคิดนั้นช้าเกินไปแล้ว ไม่ได้เป็นความคิดใหม่ ใคร ๆ ก็สามารถคิดได้ แต่องค์ความรู้ใหม่ล้วนเกิดขึ้นจากบุคคลที่มีความคิดต่าง เมื่อสังคมมีบุคคลที่มีความคิดต่างแล้วสิ่งที่ต้องทำต่อในขั้นตอนถัดไปคือต้องทำการพิสูจน์ว่าสิ่งที่คิดต่างนั้น ใช่หรือ ไม่ใช่ และนำไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติได้หรือไม่ และอย่างไรต่อไปนั่นเอง”
แค่ยิงคำถามแรกไปอาจารย์ อรณี ก็ส่งพลังงานที่ดีมาถึงเราได้อย่างจัง ดังนั้น การมีทัศนคติที่เปิดกว้างและกระตือรือร้นอยู่เสมอเป็นสิ่งที่นักวิจัยและนวัตกรพึงมี พร้อมกับเส้นทางอีกยาวไกลที่กว่าจะไปถึงการทำงานเฉพาะด้านนั้นๆ ดังนั้น ระบบการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันสำคัญอย่างยิ่ง การสอนโดยการท่องจำและปราศจากการชี้แนะให้เกิดกระบวนการคิด การวิเคราะห์ และการตั้งคำถาม จะส่งผลให้การเรียนรู้เกิดการชะงักและหยุดอยู่แค่ในห้องเรียน ไม่เกิดการต่อยอด ไม่มีการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และนั่นถือเป็นการปิดโอกาสในการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์
อาจารย์กล่าวต่ออีกว่า “ถึงแม้มันจะดูเป็นเรื่องยากแต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ สิ่งที่ยากกว่าการเปลี่ยนแปลงความคิด คือ การเริ่มที่จะเปลี่ยนหากก้าวข้ามจุดนั้นมาได้จะทำให้ทัศนคติเปิดกว้างขึ้น และนำไปสู่ก้าวใหญ่ที่สามารถยกระดับวงการยาและวงการสาธารณสุขไทยในตอนนี้ที่เข้มแข็งอยู่แล้วให้เพิ่มความแข็งแกร่งขึ้นไปอีกระดับด้วยการมีนวัตกรรมยาที่เกิดจาก การคิดและลงมือทำของประชาชนคนไทย”
“เป็นความปรารถนาอย่างสูงสุดที่จะทำให้คนไทยได้ใช้ยาดีมีคุณภาพ โดยเริ่มต้นจากคนไทยเองเราต้องเริ่มวางแผนกันตั้งแต่วันนี้ เนื่องจากการพัฒนายาเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน และจำเป็นต้องมองและดูแลทั้งในเรื่องของความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังต้องได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามที่คนไข้หรือแพทย์คาดหวังไว้ เพราะฉะนั้นแล้วจะใช้เวลานานพอสมควรในกระบวนการวิจัยและศึกษา ก่อนที่จะเข้าไปสู่ตลาดและขายได้อย่างกว้างขวาง ดังนั้น คือหน้าที่ของเราในปัจจุบัน อย่างนั้นแล้วหากเราไม่ทำอะไรเลย อนาคตที่เราอยากได้ เราก็ไม่มีทางได้มาอย่างแน่นอน ที่สำคัญหากเราสามารถทำได้ ก็จะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาลอีกหนึ่งช่องทาง”
แน่นอนว่าเป้าหมายที่เราอยากไปนั้นใหญ่เกินกว่าที่เราจะไปได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง อาจารย์จึงได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับองค์กรระดับสากล เพื่อให้เห็นว่าความร่วมมือนั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด และไม่มีนวัตกรรมระดับชาติใดเกิดขึ้นได้ด้วยการลงมือทำโดยคนใดคนหนึ่งเพียงลำพัง
“การทำงานร่วมกันเป็นทีมนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากระบบการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์นั้นเป็นสิ่งที่ค่อนข้างกว้างเกี่ยวกับเทคนิค เราเรียกว่า Multidisciplinary team เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเข้าใจทุกอย่างทั้งทางลึกและทางกว้างได้ วิทยาศาสตร์จึงไม่หยุดยั้ง ความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นในทุกวัน หากทีมสามารถไปถึงเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้ได้ไม่ว่าท่านจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับไหน หรือท่านจะเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับใด ทุกคนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน”
แพทย์หญิง อรณี เน้นย้ำถึงเป้าประสงค์ที่มีจุดหมายอันยิ่งใหญ่ของแคมเปญ Crack The Mindset นั่นหมายถึงการสร้างการตื่นรู้ สร้างการรับรู้ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ รวมถึงนักศึกษาที่กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นนักวิจัยเพื่อจุดประกายความหวังที่จะสว่างไสวต่อไปในอนาคต
“หากมีน้อง ๆ ท่านใดสนใจในด้านนี้ ต้องถามตัวเองก่อนเลยว่าอะไรคือสิ่งที่กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นหรือว่า ทำให้เราเกิดความพึงพอใจในอาชีพหรือการงาน ถ้าสิ่งนั้นคือการที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น ปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้คนป่วย ประชาชนคนไทย และรวมไปถึงประชาคมโลก นวัตกรรม (Innovation) เป็นการช่วยสร้างความหวัง ถ้าจุดนี้คือจุดที่ทำให้ท่านรู้สึกว่านวัตกรรมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตในปัจจุบันและอนาคต เราพร้อมหรือยังที่ปรับMindset ของเรา สร้าง Ecosystem ให้กับนวัตกรรมและสามารถเกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เราควรเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำวันนี้ให้ดีขึ้นในทุก ๆ วัน และวันพรุ่งนี้ก็จะดีกว่าวันนี้ที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน”
พญ.อรณี ตั้งเผ่า แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาการพัฒนายาทางคลินิก จบการศึกษาปริญญาตรี คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรศาสตร์ ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อปริญญาโท มหาวิทยาลัย McMaster ประเทศแคนาดา และได้รับ American Board of Clinical Pharmacology จากการศึกษาที่มหาวิทยาลัย Stanford ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยได้มีความสนใจเป็นพิเศษในการพัฒนายา อดีตอาจารย์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์สาขาเภสัชวิทยาคลินิก มหาวิทยาลัย Stanford
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอาจารย์อรณี ได้ทำงานด้านการพัฒนายาและได้รับความสำเร็จในหน้าที่การงานจนได้ดำรงตำแหน่งเป็น Chief Medical Officer ในบริษัท start up ที่อเมริกา ปัจจุบันอาจารย์เป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่งในไทยและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งได้รับเชิญเป็นวิทยากรในหัวข้อเรื่องการพัฒนายาทางคลินิกอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา